|
|
|
|
|
______________________________________________________________________________________________ |
ประวัติโรงเรียน |
|
 โรงเรียนเมืองสุรินทร์ เดิมชื่อ "โรงเรียนศรีสุรินทร์กสิกรรม" ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ โดยข้าหลวงประจำจังหวัดสุรินทร์ พระยาสุริยราชวราภัย (ศิริ วิเศษโกสินทร์ พ.ศ.๒๔๗๐ ๒๔๗๖) และขุนพิสุทธิ์วรวาท ธรรมการประจำจังหวัดสุรินทร์ เปิดการสอนเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๓ ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ โดยเปิด ๒ แผนก คือ แผนกสามัญ มาเช้ากลับเย็น สอนวิชาสามัญ ชั้น ป. ๑ ป. ๔ และแผนกวิสามัญ สอนวิชาชีพการกสิกรรม จักสาน ช่างไม้ และช่างอื่น ๆ นักเรียนต้องพักนอนอยู่กินที่โรงเรียน ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดี กระทรวงธรรมการมีนโยบายให้มณฑล และจังหวัดต่าง ๆ ตั้งโรงเรียนสอนวิชาสามัญ และวิชาชีพที่แต่ละจังหวัดเห็นว่าเหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น และความนิยมของคนในพื้นที่ เพื่อให้มีความรู้ความชำนาญ และเป็นการสร้างรายได้ในการประกอบอาชีพที่มั่นคง สถานที่ก่อสร้างโรงเรียนศรีสุรินทร์กสิกรรม หรือโรงเรียนเมืองสุรินทร์ คือ บริเวณสระโบราณ และหนองยาวซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่มาก ปัจจุบันถูกแบ่งพื้นที่ให้เป็นที่ตั้งหน่วยราชการหลายแห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสุรินทร์ วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุรินทร์ โรงเรียนสุรวิทยาคาร โรงเรียนอนุบาลสุรินทร์ โรงเรียนสิรินธร การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตลาดน้อยรื่นรมย์ บริเวณบ้านพักสรรพสามิต ดังนั้น โรงเรียนเมืองสุรินทร์จึงถูกแบ่งพื้นที่ให้หน่วยงานต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้เหลือเนื้อที่จำนวน ๒๕ ไร่ ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ เปิดสอนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ นักเรียนมาจากบ้านหมอกวน บ้านสระโบราณ บ้านทนง บ้านไถงตรง บ้านหนองบัว บ้านดองกระเม็ด และเขตตำบลในเมือง โรงเรียนชื่อว่า "โรงเรียนศรีสุรินทร์กสิกรรม" ครูใหญ่คนแรก และคนต่อ ๆ มาได้แก่ ๑. นายมั่น เพชรสีสม ๒. นายปล้อง สิงคเสลิต (นายธรรมนูญ สิงคเสลิต) ๓. นายปรึกษ์ แก้วปลั่ง ๔. นายญาติ ไหวดี ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ นายญาติ ไหวดี ย้ายดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนศรีสุรินทร์กสิกรรม เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๔๗๘ ซึ่งขณะนั้นโรงเรียนช่างทอกี่กระตุกยังคงอยู่ด้วย ต่อมาวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๔๗๘ ทางราชการให้แยกนักเรียนแผนกสามัญ ป.๑ ป.๔ ไปเรียนที่วัดศาลาลอย ชื่อว่า "โรงเรียนประชาบาลตำบลในเมือง ๒ (วัดศาลาลอย) โดยมอบให้นายบุญรอด สมบุตร ทำหน้าที่เป็นครูใหญ่ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ จังหวัดสุรินทร์ให้นายญาติ ไหวดี ไปดูงานโรงเรียนช่างไม้ จังหวัดศรีสะเกษ และโรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาใน ปีพ.ศ. ๒๔๗๙ทางจังหวัดได้จัดตั้งโรงเรียนช่างไม้ในบริเวณโรงเรียนศรีสุรินทร์กสิกรรม รับนักเรียนที่จบชั้น ป.๕ ป.๖ เข้าเรียนต่อหลักสูตร ๒ ปี ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ จังหวัดอนุมัติให้ตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจังหวัดสุรินทร์รับนักเรียนที่สำเร็จ ป.๕ ป.๖ หรือ ม.๓ รวม ๒๕ คน หลักสูตร ๒ ปี ประเภทในบำรุงอยู่กินพักนอน ในโรงเรียนศรีสุรินทร์กสิกรรม และให้นายญาติ ไหวดีเป็นครูใหญ่ ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ นายญาติ ไหวดี ขอย้ายโรงเรียนศรีสุรินทร์กสิกรรมไปอยู่ที่ริมห้วยเสนงเนื่องจากบริเวณที่ตั้งโรงเรียนขณะนั้นเป็นที่ลุ่ม พอถึงฤดูฝนจะมีน้ำท่วมขัง ทำให้พืชผักและสัตว์เลี้ยงล้มตาย ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ รัฐบาลให้เทศบาลจัดการศึกษา จึงให้นักเรียนนอกเขตเทศบาล ที่เรียนอยู่วัดศาลาลอย กลับคืนมาเรียนที่โรงเรียนศรีสุรินทร์กสิกรรม เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๐ ดังนั้นโรงเรียนศรีสุรินทร์กสิกรรม จึงมีนักเรียน ๒ แผนกเช่นเดิม คือ แผนกสามัญ และแผนกวิสามัญ ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ โรงเรียนศรีสุรินทร์กสิกรรมได้แยก นักเรียน ครู งานการจัดการศึกษา งานเอกสารออกจากกันเป็น แผนกสามัญ และวิสามัญ โดยใช้สถานที่เรียนและประกอบกิจกรรมต่าง ๆร่วมกัน ส่วนการบริหารโรงเรียนแผนกสามัญ นักเรียน ป.๑ ป.๔ ให้ นายฟัง จันทร์ชื่น ทำหน้าที่ครูใหญ่ และแผนกวิสามัญ นักเรียน ป.๕ ป.๖ ให้ นายญาติ ไหวดี ทำหน้าที่เป็นครูใหญ่ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๐ ปี ๒๔๘๑ ได้ย้ายสถานที่เรียนของนักเรียนแผนกวิสามัญ และนักเรียนฝึกหัดครูไปยังสถานที่สร้างโรงเรียนแห่งใหม่ คือ ห้วยเสนง กิโลเมตรที่ ๒ ถนนสายสุรินทร์ - ปราสาท เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ตั้งชื่อโรงเรียนว่า "โรงเรียนกสิกรรม หรือ โรงเรียนเกษตร" ( ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ) และมอบอาคารแผนกวิสามัญ คืนให้โรงเรียนศรีสุรินทร์กสิกรรม ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เปลี่ยนชื่อจาก " โรงเรียนศรีสุรินทร์กสิกรรม" เป็น " โรงเรียนประชาบาล ตำบลในเมือง ๓ (สระโบราณ) " และเปิดโรงเรียนสอนผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นด้วย ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เปลี่ยนชื่อเป็น " โรงเรียนประชาบาล ตำบลในเมือง ๒ (สระโบราณ) " ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ยุบโรงเรียนวัดศาลาลอย ในเขตเทศบาล (นายเทพ ฉัตรทอง เป็นครูใหญ่) และให้ย้ายนักเรียน มาเรียนร่วมกับโรงเรียนประชาบาล ตำบลในเมือง ๒ (สระโบราณ) เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ตั้งชื่อโรงเรียนใหม่ คือ " โรงเรียนประชาบาล ตำบลนอกเมือง ๒ (สระโบราณ) " ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนสระโบราณ" นายสมาน กลีบแก้ว เป็นครูใหญ่ ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ เปิดสอนชั้นเด็กเล็กเพิ่มขึ้น และทางราชการอนุมัติให้ตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาขึ้นในบริเวณโรงเรียนสระโบราณ เป็นโรงเรียนสามัญประจำอำเภอเมืองสุรินทร์ เปิดสอน ม. ๑ ม. ๓ ชื่อว่า "โรงเรียนเมืองสุรินทร์" เปิดรับ ม. ๑ นายเทพ ฉัตรทอง เป็นครูใหญ่ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เปิดสอน ถึง ม. ๒ และรวมโรงเรียนประถมสระโบราณ กับ โรงเรียนสามัญประจำอำเภอเมืองสุรินทร์เข้าด้วยกัน ชื่อว่า "โรงเรียนเมืองสุรินทร์ (สระโบราณ) นายเทพ ฉัตรทอง เป็นครูใหญ่ และต่อมาได้ตัด สระโบราณออก คงเหลือแต่ โรงเรียนเมืองสุรินทร์ ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ โอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ สังกัดกระทรวง มหาดไทย เปิดสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ๗ นายเทพ ฉัตรทอง เป็นครูใหญ่ (พ.ศ. ๒๔๙๙ ๒๕๑๘ ) ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ๒๕๒๒ นายเพ็ญ ศิริไสย ย้ายมาดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนเมืองสุรินทร์ ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ โอนไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติกระทรวงศึกษาธิการ เปิดสอนระดับก่อนประถมศึกษาอนุบาล ๑ ๒ และชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ๖ นายถาวร ทองนำ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองสุรินทร์ ( พ.ศ. ๒๕๒๒ ๒๕๓๗ ) ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ๒๕๔๐ นายประเสริฐ สุขวิทย์ ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองสุรินทร์ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ๒๕๔๓ นายสุขะ กิ่งมณี ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองสุรินทร์ ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ นายศิริวัตร บุญประสพ ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองสุรินทร์ ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ โอนเข้าสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ นายสมคิด รักษ์รอด ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองสุรินทร์ ปี พ.ศ. ๒๕๖๑ นายพงษ์ศักดิ์ อินทรามะ ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองสุรินทร์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|